ท่านพ่อสุ่น ธมฺมสุวณฺโณ
เดินทางลงเรือหนีไปบางกะสร้อย
นิมนต์ท่านพ่อสุ่นเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อกลับมาเป็นเจ้าอาวาส
ฝรั่งเศสยิงไก่
ฝรั่งเศสลูบหัว
เสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตน
ฝรั่งเศสขโมยพระพุทธรูปต้มน้ำกิน
ชกฝรั่งเศสสลบ
ฝรั่งเศสเชิญไปรักษา
หมาท่านพ่อกัดกับหมาฝรั่งเศส
ไก่กระดูกดำ
หมาที่วัดไปกัดหมูชาวบ้าน
เป็นผู้มีอาคมทางเมตตายิ่งนัก
วาจาประกาศิต
เลือดรักชาติ
ยิงกระสุนโค้ง
พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาวัด
เกี่ยวพันกับหลวงพ่ออี๋
โดนเลื่อยล้อเกวียน
นายอุปถัมภ์ลูกศิษย์เอก
บุญบารมีสูงยิ่ง
เป็นผู้มีอำนาจยิ่งนัก
ลูกศิษย์ท่านพ่อไปชลบุรี
กรมหลวงชุมพรเคยมาหา
ลูกศิษย์เป็นเสือ
พิธีปลุกเสกตะกรุดของท่านพ่อสุ่น
พระตะกั่ว
ท่านพ่อสุ่นมรณะภาพ
   

 

 
 

ปากน้ำแหลมสิงห์ในอดีต

 
 
ภาษาของคนปากน้ำแหลมสิงห์ โรงพักและตำรวจสมัยก่อน หน้าฝนที่แหลมสิงห์ อาชีพเลี้ยงเป็ด
อาหารหลักของเป็ด เล้าเป็ด หน้าหนาว เล่นว่าว ประเพณีการทำบุญกลางทุ่ง

อำเภอแหลมสิงห์ เป็นอำเภอที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเมื่อ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) สมัยรัชการที่ 5 ทหารฝรั่งเศสมายึดครองจันทบุรี และได้ตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ และเรียกกองบัญชาการนี้ว่า “ตึกแดง” และสร้างคุกสำหรับกักขังคนไทยที่ขัดขืนคำสั่ง เรียกว่า “คุกขี้ไก่” ปัจจุบันอาคารตึกแดงและคุกขี้ไก่ ตั้งเป็นอนุสรณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ฝรั่งเศสยึดอำเภอแหลมสิงห์อยู่ประมาณ 10 ปี จึงถอนกำลังออกประมาณ พ.ศ. 2446 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 5)


คุกขี้ไก่


ตึกแดง

อำเภอแหลมสิงห์ เหตุที่ใช้ชื่ออำเภอแหลมสิงห์ก็มีตำนานเล่าสืบทอดกันมา คำว่า "แหลม" หมายถึงพื้นที่ดินที่ยื่นออกไปในทะเล ส่วนคำว่า “สิงห์” หมายถึงหินที่มีรูปร่างเป็นตัวสัตว์ และมีตำนานเล่าว่าเมื่อก่อนสิงห์ที่เป็นหินนี้ เป็นสิงห์ที่มีชีวิตจริงๆ เป็นตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว อาศัยอยู่บนเขาแหลมสิงห์ (เขาแหลมสิงห์เป็นเขาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ มีทะเลอ่าวไทยล้อมรอบเขา น้ำกั้นกลาง สมัยก่อนคนอยู่กันคนละฟาก สามารถเรียกตะโกนกันได้ยิน สมัยนี้แม่น้ำได้กว้างขึ้น) และสิงห์คู่นี้จะลงมาที่ชายหาดตีนเขาลงมากินน้ำและเดินเล่นบ้างในตอนเช้าและตอนเย็น และต่อมาเมื่อฝรั่งเศสมายึดแหลมสิงห์ และเห็นสิงห์ยืนอยู่ชายหาดจึงใช้ปืนยิงสิงห์ตัวนั้นตาย สิงห์ที่อยู่อีก 1 ตัว เมื่อเห็นคู่ของตนตายลงจึงเสียใจมานั่งเฝ้าจนร่างกลายเป็นหินในท่าหมอบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ชาวบ้านจึงพากันเรียกแหลมสิงห์ตั้งแต่นั้นมา สิงห์หินสมัยก่อนสวยงามมาก แต่กาลเวลาและคลื่นลมได้เซาะพังจนผิดสภาพเดิม แต่ก็ยังมองออกว่าเป็นรูปสิงห์


คำขวัญอำเภอแหลมสิงห์
เล่นน้ำตกพลิ้ว ชมวิวชายทะเล
เที่ยวเตร่ตึกแดง โชว์แสดงโลมา
กุ้งปูปลาผลไม้มากมี เสื่อดีบางสระเก้า
เกาะนมสาวอ่าวกระทิง แหลมสิงห์จันทบูร

เพลงมาร์ชแหลมสิงห์กับสิงห์ศิลา
เสียงลมผสมเสียงคลื่น
จนดึกจนดื่น คลื่นไม่สร่างซา
เช้าเย็นเห็นแต่เกาะจุฬา
มีต้นพุทราอยู่ริมทะเล
ยามดึกนึกหนาว ลมว่าวพัดหวล
นั่นเรือลากอวนสวนกับเรือตังเก
โน่นแน่ะเกาะนมสาว โน่นแน่ะอ่าวกระทิง
โน่นแน่ะตัวสิงห์ หมอบนิ่งเฝ้าทะเล
ฮา ฮ้า ฮา ฮ่า เฮ เฮ เฮ้ เฮ เฮ ฮา
จับกุ้งจับปลา หาหอยหาปู
ไสยเคยเลี้ยงเป็ด ตกเบ็ดเลี้ยงหมู
เช้าเย็นนั่งดู น่าอยู่จริงเอย…

เรื่องเล่าวิถีชีวิตชาวปากน้ำแหลมสิงห์ จากยายหู

ยายหู ชื่อจริง คือ นางเซือง ชายน้ำเค็ม(คนละแวกนี้มักมีนามสกุล ตามถิ่นที่อยู่ เช่น ชายหาด เนินหาด เนินริมหนอง ชายน้ำเค็ม เป็นต้น) พ่อชื่อ นายแซง ชายน้ำเค็ม เป็นคนแถวกลางส่วนแม่ชื่อ นางเนื่อง เป็นคนทางเนินโพ มีพี่น้องรวม ๖ คน คือ นายซอ , นายเซีย , นายใบ้(หายจากบ้านไปนานแล้ว) , นายซี , นางซง และนางเซือง

การศึกษานั้น ยายหูบอกว่า
“เดือนหนึ่งไปโรงเรียนแค่หนเดียว หน้าที่หลักคือ เลี้ยงควาย ที่บ้านอยู่ ๓ ตัว ๔ ตัว
เป็นควายที่ปู่ย่าตายายให้มาจากเนินโพ นอกจากเลี้ยงควายแล้วก็ต้องซ้อมข้าว คือ สีข้าว โดยสมัยก่อนแต่ละบ้านจะมีเครื่องสีข้าว ไว้สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารเอง”

เครื่องสีข้าวที่ยายหูเล่า รูปร่างคล้ายโม่ มีฐานและมีอีกชั้นหนึ่งมีที่หมุน มักทำด้วยดินเหนียวแห้ง เมื่อนำข้าวเปลือกทยอยเทใส่ และมีอีกคนหนึ่งคอยหมุน ข้าวเปลือกจะถูกบดโดยไม่ละเอียด และเปลือกจะหลุดออกเหลือข้าวสารปลายข้าวและฟันข้าว ไหลสู่กระจาดรอง หลังจากนั้นนำมาร่อนแยกเปลือกข้าวออก และนำมาซ้อม คือตำเบาๆ ให้หางข้าว คือ ข้าวสารออกจากเม็ดข้าวสาร ก็จะได้ข้าวสารขาว หลังจากนั้นร่อนรำออก โดยใช้ตะแกรงร่อนรำ ก็จะได้ข้าวสาร สำหรับหุงกิน

“สมัยนั้นโรงสีข้าวมีแล้ว ใช้ลมสี เป็นของตาหงวน พ่อของกำนันไก๋ ตอนนั้นเรายังเด็ก บ้านคนก็ไม่ค่อยมีมีแต่ทุ่งเลี้ยงควาย เอาควายไปเลี้ยงถึงนาเกลือลุงจี๊ด โน่น”
“สมัยก่อน ได้เงินยาก เก็บผักไปขายที่ตลาดปากน้ำ ผักบุ้ง ผักกระเฉด ขายกำละสตางค์ วันหนึ่งได้ถึง ๕ สตางค์

“สมัยก่อน แถวกลาง บ้านที่รวย คือ ตาแต๋ รวยที่สุด ที่นาเยอะ (เป็นพี่ของย่าหงอม-กำนันไก๋) อีกคนที่รวย คือ ยายแส แม่ของกำนันไก๋ ยายเตย ก็รวย”

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้อายุยืนและสุขภาพแข็งแรง ยายหูบอกว่าไม่รู้ได้
“ฉันกินยาก อย่างเนื้อหมูก็ผัดกะเพราอย่างเดียว เอาให้เอามาต้มๆ เลียงๆ นั้นไม่ชอบเลยส่วยใหญ่กินผักน้ำพริกกินดอกแค ช้อนกุ้ง ตกปลามากิน จน (ยากจน) อย่างปลาต้มเค็ม ก็ตักแต่น้ำมาลาดข้าว เนื้อปลากินได้ ๒ มื้อ

“ฉันกินกับข้าวไม่โต (กินกับข้าวไม่มาก) ไก่ เป็ด นก ไม่กิน กบไม่กิน พ่อแม่ฉันก็ไม่กิน ปลาน้ำจืดก็ไม่กิน มันเหม็นคาว ขลังเข็ด (คำพื้นเมือง-แปลกอยู่เหมือนกัน) สมัยก่อนเป็ดไก่ไม่มีกิน เนื้อควายก็หากินยาก ควายเป็นๆ เขาไม่ฆ่ากัน เนื้อควายไม่เคยมีควายถูกฟ้าผ่าตาย เป็นควายพ่อของอีลี (พ่อของนางมะลิ เนินหาด ชื่อ ตาเกือน) ตายก็แล่งกันกิน ไม่มีขายเอาเงินกินใครเถือได้ก็เถือเอา เอามาแกงบ้าง ต้มบ้าง

“ไม่เคยแปรงฟัน กินแต่หมาก ไม่ขัดฟัน และไม่เคยปวดฟัน เรื่องป่วย ไม่เคยเลย เจ็บหัวเคย (ปวดศีรษะ) เวียนหัวเคย ขี้มูกไหลก็มี วันสองวันก็หาย เด็กสมัยก่อนตากฝนไม่เป็นไร ฝนตกก็เที่ยวช้อนกุ้ง ตกปลา ไม่เป็นไร ไปดำนา ได้เล่ะ (หมวดสานด้วยใบตาล) ลูกหนึ่งก็ไปแล้ว

ต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ ยายหูถูกหมากัดที่น่อง ขณะไปงานศพ ต้องไปฉีดยาทุกวัน ก่อนหน้านี้กระดูกที่มือหัก ยายหูบ่นว่า “เกิดไม่เคยป่วย ต้องมาป่วยเอาตอนแก่” แล้วก็หัวเราะ
สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้ยายหู อายุยืนและสุขภาพดี คือ การมีอารมณ์ดีอยู่เสมอ มักไม่ค่อยมีใครเห็นยายหูโกรธผู้อื่นมักยิ้มแย้ม ทักทายคนแม้จะต่างวัยกันก็ทักทายอย่าสนิทสนม


 

 

 
วัดปากน้ำแหลมสิงห์ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
www.watpaknamlaemsing.org Copyright © 2011